top of page

Past Events

ความเชื่อเรื่องการทำบุญ

“ไปทำบุญกัน” หลายๆคนคงจะเคยได้ยินคำเชิญชวนนี้กันบ่อยๆ ทั้งจาก ครอบครัว เพื่อนสนิท มิตรสหาย หรือแม้กระทั่งผู้คนที่ยืนอยู่ตามท้องถนนและสถานที่ต่างๆ พยายามเชิญชวนให้เราทำบุญ โดยการหยอดเงินใส่ตู้บริจาค ซื้อโลงศพให้ศพไร้ยาท ใส่ซองผ้าป่า ทำบุญทอดกฐิน และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งเราทุกคนมักจะมีความเชื่อในเรื่องของการทำบุญว่า เมื่อเราบริจาคเงินไปแล้วไม่ว่าด้วยวิธีไหน เต็มใจหรือไม่เต็มใจ ใส่ซองทำบุญเพราะเกรงใจ หรือด้วยเหตุผลอื่นๆนานัปการ เราก็ย่อมต้องได้รับผลบุญเป็นการตอบแทนอย่างแน่นอน แต่จะมีสักกี่คนกัน ที่รู้จริงๆว่า การทำบุญคืออะไร? ทำบุญไปทำไม? มีวิธีการทำบุญวิธีอื่นอีกหรือไม่? แล้วจะทำบุญอย่างไรให้ได้บุญจริงๆ?

เมื่อพูดถึงการทำบุญ ทุกคนคงคุ้นชินกับภาพของการจุดธูปเทียนถือดอกไม้ไหว้พระ ทำบุญใส่บาตรในตอนเช้า ถวายชุดสังฆทาน หรือแม้กระทั่งถวายปัจจัยอื่นๆ หยอดเงินใส่ตู้บุญที่ตั้งไว้ตามจุดต่างๆภายในวัด แต่แท้ที่จริงแล้ว การทำบุญสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ที่บ้านก็ตาม เราก็สามารถสร้างบุญ สร้างกุศลได้ โดยไม่ยากเย็นอะไรเลย

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักกันก่อนว่า การทำบุญคืออะไร คำว่าบุญหมายถึงอะไร ความหมายของคำว่า “บุญ” หรือ “ปุญญ” คือการชำระล้าง เครื่องชำระสันดานให้หมดจด ให้บริสุทธิ์ ให้มีความประพฤติดี ประพฤติชอบทั้งทางกาย วาจา ใจ ให้เป็นความดี ความสุขและเป็นกุศลธรรม ซึ่งก็คือ อะไรก็ตามที่ท่านทำแล้วเป็นเหตุให้สบายใจ มีความสุข ความเจริญ หมดสิ้นกิเลสเหตุที่ดับทุกข์ทั้งปวงลงได้ เรียกว่า “บุญ” ทั้งสิ้น

การทำบุญนั้น แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆได้ 3ประเภท คือ

1.การให้ทาน เช่น การสละทรัพย์สินหรือสิ่งของ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ด้วยความสุขใจ หรือเต็มใจที่จะช่วยเหลือ

2.การรักษาศีล เช่น ศีล 5 ข้อ เป็นศีลของ อุบาสก อุบาสิกา ทั่วไป

ศีล 8 ข้อ เป็นศีลของ ฆราวาส

ศีล 227 ข้อ เป็นศีลของพระภิกษุสงฆ์

ศีล 311 ข้อ เป็นศีลของพระภิกษุณี

3.การเจริญภาวนา เช่น การนั่งทำสมาธิ การนั่งวิปัสสนากรรมฐาน หรือการตั้งมั่น ตั้งจิตให้เป็นสมาธิ

ซึ่งการทำบุญนั้นได้มีการอธิบาย ลงรายละเอียดปลีกย่อยไปได้อีก เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 10 ซึ่งความหมายและจุดประสงฆ์ของการทำบุญก็จะแตกต่างกันออกไป ดังนี้

1.ทานมัย คือ ได้บุญเพราะการให้ เราให้หรือสละสิ่งของต่างๆ ให้ด้วยความสามารถ หรือให้ความรู้ที่เรามีอยู่แก่บุคคนอื่น หรือให้อะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคนอื่น เพื่อสละและกำจัดความโลภที่อยู่ภายในใจ การให้ด้วยความเต็มใจและไม่หวังผลตอบแทน ให้ด้วยความสุข ให้ด้วยจิตใจผ่องใส ทานมัยนี้ จัดอยู่ในประเภทของการให้ทาน

2.สีลมัย คือ ได้บุญเพราะการรักษาศีลดี เพื่อกำจัดความโกรธ ความขุ่นข้องหมองใจ ความประพฤติที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลาย ทั้งปวงทั้งทางกาย วาจา ใจ สีลมัยนี้จัดอยู่ในประเภทของการรักษาศีล

3.ภาวนามัย คือ ได้บุญเพราะการภาวนา การตั้งจิต กำหนดจิต เพื่อกำจัดความลุ่มหลง ความสงสัย ความรู้ไม่จริง ความคิดฟุ้งซ่าน เพื่อเป็นการอบรมจิตให้มีสมาธิและปัญญา ภาวนามัยนี้ จัดอยู่ในประเภทของการเจริญภาวนา

4.อปจายนมัย คือ ได้บุญเพราะการอ่อนน้อมถ่อมตน เพื่อทำให้จิตใจเรานั้นอ่อนโยนลง ทำให้เห็นถึงความสำคัญของผู้อื่น ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น อปจายนมัยนี้ จัดอยู่ในประเภทของการรักษาศีล

5.เวยยาวัจจมัย คือ ได้บุญเพราะการขวนขวายในกิจดี หรือตั้งใจทำงานที่ควรจะต้องทำ ให้มีจิตมุ่งมั่น ตั้งมั่น เพื่อให้งานเหล่านั้นดำเนินไปด้วยดีและสำเร็จลุล่วงตามจุดประสงค์ เพื่อเป็นการฝึกสมาธิ ฝึกสติของเรานั่นเอง เวยยาวัจจมัยนี้ จัดอยู่ในประเภทของการรักษาศีล

6.ปติทานมัย คือ ได้บุญเพราะการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล การกรวดน้ำ ให้กับผู้อื่น เพื่อเป็นการฝึกจิตใจของตนให้อ่อนน้อม ให้อ่อนโยน และมีความปรารถนาดี ให้มีความเมตตา กรุณาต่อผู้อื่นอยู่เสมอ ปติทานมัยนี้ จัดอยู่ในประเภทของการให้ทาน

7.ปัตตานุโมทนามัย คือ ได้บุญเพราะว่าชื่นชมความดีและร่วมยินดีในบุญของคนอื่น รวมถึงการกล่าวคำอนุโมทนายินดีร่วมกับผู้อื่นด้วย เพื่อยกระดับจิตใจของเราให้ผ่องใส ละทิ้งความโกรธและความหลงได้ ปัตตานุโมทนามัยนี้ จัดอยู่ในประเภทของการให้ทาน

8.ธัมมัสสวนมัย คือ ได้บุญเพราะการหมั่นฟังธรรมให้เป็นกุศล การฟังธรรมเทศนา การฟังธรรมจากสื่อต่างๆและนำพระธรรมรวมถึงหลักคำสอน ธรรมะเหล่านั้นไปปฏิบัติให้ถึงดีพร้อม เพื่อฝึกจิตเราให้มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีสติและรู้ปฏิบัติถูก ปฏิบัติชอบ ธัมมัสสวนมัยนี้ จัดอยู่ในประเภทของการเจริญภาวนา

9.ธัมมเทสนามัย คือ ได้บุญเพราะการแสดงเทศนา แสดงธรรม หรือการถ่ายทอดธรรมะให้แก่บุคคลอื่น เพื่อให้บุคคลนั้นมีวิถีชีวิตที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม รวมทั้งเป็นการสืบทอดพระพุทธศานาไปด้วย ธัมมเทศนามัยนี้ จัดอยู่ในประเภทของการเจริญภาวนา

10.ทิฏฐุชุกัมม์ คือ ได้บุญเพราะเห็นตรงตามความหมาย การมีความคิดที่เห็นตรง ถูกต้อง จะทำให้เราประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลในธรรมและความดี ละกิเลส ละเว้นความชั่วทั้งหลายได้ มีสติปัญญา อยู่ในการทำความดี ขจัดกิเลสให้หมดไป ทิฏฐุชุกัมม์นี้ จัดอยู่ในประเภทของการให้ทาน การถือศีล และการเจริญภาวนา เพราะคนจะทำความดีเหล่านี้ได้ ก็เนื่องจากต้องมีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรมเสียก่อน

เมื่อเราเข้าใจความหมายทั้งหมดของการทำบุญแล้วนั้น เราก็จะสามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ และสามารถสร้างบุญ สร้างกุศลได้ทุกที่ ทุกเวลา แล้วเราก็จะสามารถรับรู้และเข้าใจในความเชื่อผิดๆของการทำบุญว่าจะต้องผ่านการถวายปัจจัยต่างๆ หรือใส่เงินใส่ทองจำนวนมากๆเท่านั้น ซึ่งจริงๆแล้ว การนั่งสมาธิเฉยๆอยู่บ้าน เราก็สามารถได้บุญอย่างมากแล้ว แต่การทำบุญทั้งหมดที่แยกย่อยออกมาข้างต้นนี้ ล้วนขึ้นอยู่กับการตั้งจิตของตนเองให้ผ่องใสทั้งสิ้น และทุกข้อล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะเป็น การให้ทาน การถือศีล หรือการเจริญภาวนา

การทำบุญอย่างไรให้ได้บุญจริงๆนั้น มี3ช่วงเวลา ที่เราควรตั้งใจและใส่ใจให้มาก คือ

1.เราสามารถได้บุญตั้งแต่เราเริ่มมีความคิดที่อยากจะทำบุญแล้ว ความคิดที่อยากจะทำบุญด้วยจิตใจผ่องใส ด้วยความปลื้มปิติ และตั้งมั่นตั้งใจที่จะทำบุญ การมีสติ ตั้งใจเลือกซื้อปัจจัยที่จะนำไปถวาย หรือการตั้งใจทำอาหารเพื่อใส่บาตร ด้วยความปิติ ด้วยความสุขนั่นเอง

2.ช่วงเวลาในขณะที่เรากำลังทำบุญอยู่นั้น ให้เราตั้งจิตอธิฐานให้เป็นสมาธิ ด้วยความรู้สึกที่อิ่มเอิบ ผ่องใส มีความสุข และสละได้ซึ่งกิเลสจริงๆ ณ ขณะที่ทำ อย่าวอกแวก คิดแต่ว่า สิ่งที่เราทำไป พระจะได้รับจริงหรือไม่ หรือจะโดนหลอกลวง หรือนึกเสียดาย ไม่เต็มใจให้ หรือสาเหตุใดใดก็ตาม ที่จะทำให้จิตเกิดความสงสัย ลังเล ความไม่ศรัทธา ซึ่งจะนำพาให้เราพะวงหรือแม้กระทั่งความยึดติดในความดี เช่น ยิดติดว่าตอนนี้เราทำบุญ เราจะต้องได้รับผลบุญแน่นอน เราจะต้องถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือการทำบุญเพื่อหวังผลตอบแทนใดใด นั่นก็ถือเป็นกิเลสอย่างหนึ่งเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เราไม่ได้ผลบุญอย่างเต็มที่ตามที่ควรจะเป็น

3.หลังจากที่เราทำบุญเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เราจำและรับรู้ความรู้สึกแห่งความปลื้มปิติ ความสุข ความยินดีปรีดา การละกิเลสได้ทั้งหลาย รวมทั้งนึกถึงการแบ่งปันบุญ กุศล อนุโมธนาบุญ แผ่ส่วนบุญกุศลที่เราทำไปนี้ให้ผู้อื่นได้รับด้วยความสุข ความปรารถนาดี จากใจจริง

วิธีการตั้งมั่น ตั้งจิตให้เป็นสมาธิ ตั้งแต่เริ่มต้นทำบุญ จนกระทั่งทำบุญเสร็จด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ด้วยความสุขนี้ จะทำให้เราได้รับผลบุญกุศลอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งเราควรที่จะกลับมาเจริญภาวนาที่บ้านหรือถือศีลในชิวิตประจำวันของเราด้วย เพื่อให้บุญกุศลถึงพร้อมและฝึกจิตใจของตนให้มีความดีบริบูรณ์อยู่ทุกช่วงขณะจิต ซึ่งถ้าทุกคนสามารถทำได้ ก็จะทำให้ชีวิต ความเป็นอยู่ รวมทั้งศาสนาของเรา ยังคงดำเนินอยู่ได้ด้วยความสุข ความเจริญทั้งปวง

Recent Posts
bottom of page